ผู้เขียน หัวข้อ: 5 วิธีให้อภัยพ่อแม่  (อ่าน 245 ครั้ง)

xcepter2016

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2276
    • ดูรายละเอียด
5 วิธีให้อภัยพ่อแม่
« เมื่อ: มกราคม 09, 2018, 05:11:21 pm »
พุทธศาสนายกย่องพ่อแม่ว่าเป็นพระอรหันต์ของลูก เพราะท่านเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้เลี้ยงดู เป็นครูคนแรก ลูกๆบางคนอาจมองพ่อแม่เป็นธนาคารส่วนตัว และเป็นอะไรอีกสารพัดอย่างที่ลูกอยากให้เป็น
พ่อแม่ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ก็จริง แต่ถ้าลูกเข้าใจว่าพ่อแม่ก็คือคนธรรมดา ดังนั้นจึงอาจทำผิดพลาดได้ และคนเป็นลูกก็สามารถให้อภัยพ่อแม่ได้เช่นกัน ความเข้าใจดังกล่าวจะช่วยทำให้ความรู้สึกคับข้องใจลดน้อยลง ลูกหลายคนเก็บกดความไม่พอใจพ่อแม่ไว้กับตัว เพราะไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไร นานวันเข้าเรื่องเล็กอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ และลุกลามเป็นแผลเป็นของชีวิตขึ้นมาได้
วันนี้ Secret จึงได้กราบนมัสการ พระครูจินดารัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธบุตร จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นวัดที่มีการจัดอบรมวิปัสสนาให้แก่เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี มาพูดคุยกันในเรื่องนี้
 

 
จากการทำงานกับเด็กและเยาวชนมาเป็นเวลานาน ทำให้พระอาจารย์ทราบว่า ปัญหาของเด็กส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความอบอุ่นในครอบครัว เด็กเล็กๆ น้อยใจที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ เด็กวัยประถมเห็นพ่อแม่เลี้ยงตนด้วยเงินเป็นหลัก เลยคิดว่าเงินคือที่สุดของชีวิต และยิ่งโตขึ้น ลูกๆ ก็รักพ่อแม่น้อยลงจนดูเหมือนว่าพ่อแม่ทำอะไรก็ผิดไปหมดและไม่น่าพอใจเสียทั้งสิ้น แต่ไม่ว่าพ่อแม่จะพลั้งเผลอทำความผิด มีเรื่องกระทบกระทั่ง หรือมีเรื่องที่ไม่เข้าใจกันบ้าง ถ้าลูกมีความกตัญญู รู้จักให้อภัย และยึดหลักธรรมะในการดำเนินชีวิต ปัญหาก็จะเบาบางลง

ดังนั้นเมื่อใดที่ลูกรู้สึกไม่พอใจพ่อแม่ ลองใช้วิธีต่อไปนี้ในการสลายความโกรธ และให้อภัยท่าน
1 ตระหนักถึงพระคุณของพ่อแม่ ที่จริงแล้วลูกทุกคนรู้แก่ใจดีว่าพ่อแม่มีพระคุณต่อตนขนาดไหน เมื่อใดที่เกิดความไม่เข้าใจกัน ขอให้ย้อนคิดถึงพระคุณของท่าน เพราะหากไม่มีพ่อแม่ ก็ไม่มีเรา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า การศึกษา ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ทุกสิ่งที่ได้จากพ่อแม่อาจจะมากบ้าง น้อยบ้างหรือขาดแคลนในบางครั้ง แต่ก็ให้คิดว่า ท่านให้เรามากที่สุดเท่าที่จะสามารถให้ได้แล้ว ขอให้ดูตัวอย่างคนที่มีความกตัญญูกตเวที เพราะคนแม้จะยิ่งใหญ่ หากไม่มีความกตัญญูก็ไม่นับว่าประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง เมื่อมีโอกาสลูกควรที่จะปรนนิบัติดูแลพ่อแม่ด้วยปัจจัยสี่ ไม่ควรแล้งน้ำใจต่อท่าน
2 อย่ารอเวลาที่จะรัก วิธีหนึ่งที่พระอาจารย์ใช้ในการอบรมเด็กๆ ให้มีความกตัญญูคือ ให้พวกเขาออกมาแสดงความรู้สึก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะออกมาเล่าว่าพ่อแม่รักพี่หรือน้องมากกว่าตนเอง หรือน้อยใจที่พ่อแม่ผิดสัญญาไม่มีเวลาให้ เป็นต้น หลังจากนั้นพระอาจารย์ก็จะขอให้เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรือพ่อแม่เสียชีวิตแล้วออกมาข้างหน้า ซึ่งเด็กๆ กลุ่มหลังก็จะเล่าว่ารักและคิดถึงพ่อแม่ตลอดเวลา และถ้าพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ พวกเขาจะบอกหรือทำอะไรให้พ่อแม่บ้าง ฯลฯ
พระอาจารย์เล่าว่า เมื่อถึงตอนนี้เด็กๆ จะร้องไห้กันโดยทั่วหน้า และตระหนักว่า การที่พ่อแม่ยังอยู่กับพวกเขาเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาล แม้ว่าจะทะเลาะหรืองอนกันบ้าง ก็ยังดีกว่าไม่มีพ่อแม่เลย
แม้ไม่ได้เข้าร่วมอบรม แต่เราทุกคนรู้ดีว่าพ่อแม่ไม่มีทางอยู่กับเราไปตลอด เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่ควรทำให้ท่าน เมื่อยังมีโอกาส ก็ควรรีบทำ รีบปรับความเข้าใจ และให้อภัยท่าน
3 ใช้น้ำคำย้ำน้ำใจ เด็กเล็กๆ แม้จะโกรธพ่อแม่แต่ก็หายโกรธได้ไม่ยาก เพราะพ่อแม่คือคนที่สำคัญที่สุดของเขา ต่างจากคนที่โตแล้ว ซึ่งแม้จะรู้จักผิดชอบชั่วดีมากขึ้น แต่กลับไม่รู้จักสลายความโกรธ และมักพลั้งเผลอทำร้ายจิตใจของพ่อแม่ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะด้วยคำพูด และที่น่าเสียใจคือ ส่วนใหญ่จะพูดหวานๆ กับคนนอกบ้าน แต่กับคนในบ้านกลับใช้คำพูดตามใจฉันและขาดความระมัดระวังเพียงพอ
พระอาจารย์กล่าวเสริมว่าคำพูดเป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวังมาก เหมือนคำกล่าวที่ว่า "พูดคำด่าคำ คนเข็ด พูดเท็จเป็นบาป พูดหยาบแตกร้าว พูดยาวฟังยาก พูดมากเลอะเทอะ พูดเยอะผิดบ่อย พูดถ่อยผิดใจ พูดไวผิดอักขระ" และเพื่อยับยั้งไม่ให้ความโกรธหรือความไม่พอใจทวีความรุนแรงจนเผลอใช้คำพูดทิ่มแทงหัวใจพ่อแม่ เราก็ควรมีสติ คิดให้ดีก่อนจะพูด หมั่นใส่น้ำใจในน้ำคำ ซึ่งจะช่วยให้เราควบคุมจิตใจตัวเองได้ดีขึ้น แม้ว่าความไม่พอใจไม่ได้หายไปไหน แต่อย่างน้อยก็ยังพอจะสงบระงับไปได้
4 ปลดปล่อยความยึดติด ลูกหลายคนรู้สึกไม่ชอบใจที่พ่อแม่คิดไม่เหมือนตนเอง เช่น พ่อแม่ไม่สนใจธรรมะ แต่ลูกเป็นคนชอบเข้าวัด พ่อชอบสูบบุหรี่ แต่ลูกเกลียดคนสูบบุหรี่ พ่อพูดจาโผงผาง แต่ลูกรู้สึกว่าการพูดเสียงดังเป็นเรื่องน่าละอาย ฯลฯ เรามักอยากให้พ่อแม่เป็นอย่างที่พ่อแม่ไม่ได้เป็น ซึ่งในทางกลับกัน พ่อแม่ก็อาจจะคาดหวังในสิ่งที่เราเป็นไม่ได้เช่นกัน
การจะให้คนอื่นคิดหรือเป็นเหมือนใจเราทุกอย่าง เป็นเรื่องที่ไม่มีวันเป็นจริงได้ และถ้ามัวแต่เถียงกันในเรื่องเหล่านี้ ก็คงยากจะคุยกันรู้เรื่อง หากเป็นเรื่องที่เราห่วงใยท่าน และเมื่อเราเตือนแล้ว แต่ท่านปฏิเสธ ก็ไม่ควรจะจ้ำจี้จำไชไม่หยุด เพราะรังแต่จะเกิดความขัดแย้งกันมากขึ้น ขอให้หันไปใช้วิธีอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการถกเถียงกัน เช่นแทนที่จะคะยั้นคะยอให้ท่านเข้าวัด จะง่ายกว่าถ้าเราเปลี่ยนตัวเองให้ท่านเห็น เช่นเปลี่ยนจากคนใจร้อน ขี้โมโห เป็นคนใจเย็น และอดทนมากขึ้น เมื่อท่านเห็นเราเปลี่ยน ท่านก็จะเกิดความศรัทธาและสนใจในธรรมะขึ้นมาเอง
5 ให้อภัยได้ทุกเรื่อง เมื่อพ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิด ก็มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดีและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทว่าในความเป็นจริง มีคนจำนวนมากที่เป็นพ่อแม่โดยที่ยังไม่พร้อมและไม่สามารถเลี้ยงลูกได้มิหนำซ้ำยังทำตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูกเห็น ไม่ว่าจะเป็นเล่นไพ่ แทงหวย ถั่ว โป อบายมุขทุกอย่างเล่นหมด เป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา คบคนชั่วเป็นมิตร ฯลฯ เมื่อลูกเห็นพ่อแม่ทำสิ่งเหล่านี้ก็ย่อมรู้สึกผิดหวัง ไม่อยากให้ความเคารพหรือศรัทธาในตัวพ่อแม่อีกต่อไป มีแต่จะตำหนิ ติเตียน และต่อว่า นอกจากนั้นยังมีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่เป็นฝ่ายกระทำสิ่งเลวร้ายกับลูกเสียเอง เช่นพ่อแม่ที่บังคับให้ลูกประกอบมิจฉาชีพ ให้ลูกค้ายาเสพติด มีพ่อที่ข่มขืนลูก มีแม่ที่รู้เรื่องแต่ไม่ช่วยอะไร...เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทย แต่ที่ไหนๆ ก็มี
พระอาจารย์อธิบายว่า เรื่องราวน่าเศร้าเหล่านี้มักมีสาเหตุจากกามราคะ และบางเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นจากอารมณ์ชั่ววูบ หลายๆ ครั้งเมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น และคนผิดต้องการกลับตัว ก็จะมีการจัดพิธีขอขมา เมื่อพ่อแม่ลูกได้ขออโหสิกรรมต่อกันแล้ว หลังจากนั้นพวกเขาก็สามารถอยู่ร่วมกันได้
สำหรับคนนอก เราคงรู้สึกสลดใจและอยากจะแยกพ่อแม่ลูกให้ไกลจากกัน แต่ในความเป็นจริง แม้ว่าเด็กจะเป็นผู้ถูกกระทำ ส่วนใหญ่เขาก็ยังคงรักพ่อแม่อยู่ ความรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียดจะต่อสู้กันอย่างรุนแรงในจิตใจเขาเอง หากไม่สามารถให้อภัยได้ ปมนี้ก็จะติดตัวเขาไปจนชั่วชีวิต
ปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน และต้องใช้เวลาในการแก้ไข แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ทันทีคือการแก้ที่ใจของเรา เริ่มต้นจากการให้อภัยคนทุกคนโดยเฉพาะพ่อแม่ เพื่อให้เราสามารถเปิดประตูไปสู่ความสุขที่แท้จริง
อ่านเพ่ิมเติมได้ที่ http://horoscope.sanook.com/19629/
คำค้นหาที่เกี่ยวข้อง : วันพ่อ

Tags : วันพ่อแห่งชาติ,กลอนวันพ่อ

 

Sitemap 1 2 3