ผู้เขียน หัวข้อ: คอลลาเจนมีดีอย่างไร  (อ่าน 345 ครั้ง)

penpaka2tory

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2241
    • ดูรายละเอียด
คอลลาเจนมีดีอย่างไร
« เมื่อ: มกราคม 24, 2018, 08:19:18 pm »
คอลลาเจน คือโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ตามกระดูก กระดูกอ่อน รวมถึงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายของสัตว์และมนุษย์ ด้วยคุณสมบัติสร้างความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ทำให้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจนจำนวนมาก ทั้งชนิดเม็ดหรือชนิดผงละลายน้ำ โดยต่างกล่าวอ้างสรรพคุณในการบำรุงให้ผิวอ่อนเยาว์ สว่างสดใส มีสุขภาพดีจากภายในสู่ภายนอก หรือบางครั้งก็โฆษณาสรรพคุณด้านการบรรเทาอาการปวดจากโรคข้อโรคกระดูก ทว่าการใช้คอลลาเจนเสริมในรูปแบบต่าง ๆ นั้นมีประโยชน์จริงหรือ?
รู้จักคอลลาเจนและแหล่งของคอลลาเจน
โปรตีนคอลลาเจนนั้นประกอบด้วยหน่วยย่อยที่เป็นกรดอะมิโน โดยจะเกิดการผลิตขึ้นเมื่อโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ปลา หรือผลิตภัณฑ์จากนมทั้งหลายที่ทานไปถูกย่อยสลายจนแตกตัว และก่อตัวขึ้นใหม่เป็นโปรตีนในลักษณะอื่น ๆ เช่น โปรตีนที่ช่วยในกระบวนการรักษาแผล ซ่อมแซมกล้ามเนื้อ หรือคอลลาเจนนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ร่างกายจะมีการผลิตคอลลาเจนน้อยลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ในช่วงอายุ 20 ปีต้น ๆ ผิวหนังของคนเราจะประกอบด้วยคอลลาเจนประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ แต่จะค่อย ๆ สูญเสียคอลลาเจนเหล่านี้ไปถึงปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้การเชื่อมต่อของเนื้อเยื่อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอ่อนแอลง เป็นสาเหตุให้ผิวหนังเหี่ยวย่น มีริ้วรอย ขาดความยืดหยุ่น และบริเวณข้อต่อเริ่มไม่แข็งแรงตามไปด้วย
จริงหรือ? ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมคอลลาเจนเสริมช่วยให้ผิวอ่อนเยาว์
ด้วยความต้องการคงไว้ซึ่งความอ่อนเยาว์และเต่งตึงของผิว ทำให้หลายคนเชื่อสรรพคุณที่โฆษณาอาหารเสริมคอลลาเจนต่าง ๆ ระบุว่าร่างกายจะสามารถดูดซึมอาหารเสริมคอลลาเจนในรูปแบบที่ผ่านกระบวนการย่อยบางส่วน (Collagen Hydrolysate) เข้าไปเสริมสร้างคอลลาเจนให้กับผิวหนัง ซึ่งหากว่าตามทฤษฎี อาหารเสริมคอลลาเจนน่าจะช่วยลดการเสื่อมของผิวหนังได้ แต่ในทางปฏิบัติตามผลการทดลองกลับไม่พบผลลัพธ์ที่ยืนยันประสิทธิภาพตามที่โฆษณาผลิตภัณฑ์คอลลาเจนต่าง ๆ กล่าวอ้าง
งานวิจัยในปี 2014 ศึกษาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์คอลลาเจนชนิดหนึ่งต่อการช่วยชะลอริ้วรอยและฟื้นฟูความเหี่ยวย่นของผิวหนัง ผลลัพธ์ระบุว่าผู้เข้าร่วมทดลองเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รับประทานคอลลาเจนดังกล่าวนานกว่า 60 วันแล้วมีริ้วรอยและการเหี่ยวย่นของผิวหนังลดน้อยลง ซึ่งผู้วิจัยยังได้กล่าวแนะนำว่าผลลัพธ์ในทางที่ดีนั้นอาจเป็นผลจากปัจจัยภายนอกชนิดอื่นมากกว่าจะเป็นประโยชน์ของคอลลาเจนที่รับประทานโดยแท้จริง
นอกจากการศึกษาสรรพคุณของอาหารเสริมคอลลาเจนต่อผิวหนังที่มีความคลุมเครือแล้ว องค์กรผิวหนังแห่งประเทศอังกฤษ (British Skin Foundation) ยังออกมายืนกรานว่าการบริโภคคอลลาเจนไม่อาจให้ประโยชน์แก่ผิวหนังแต่อย่างใด
ผู้เชี่ยวชาญจากเว็บไซต์สุขภาพที่มีชื่อเสียงอย่างเน็ตด็อกเตอร์ (Netdoctor) กล่าวสนับสนุนว่าแม้จะมีงานวิจัยบางชิ้นที่ชี้ถึงประโยชน์ของการบริโภคคอลลาเจนต่อการผลิตคอลลาเจนโดยรวมของร่างกายที่เพิ่มขึ้นและการบำรุงสุขภาพผิว แต่ผลลัพธ์นั้นค่อนข้างขึ้นอยู่กับปัจจัยรายบุคคล เพราะแต่ละคนมีโครงสร้างผิวหนังและการเลือกรับประทานอาหารที่แตกต่างหลากหลาย จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าผลลัพธ์ที่ได้เกิดจากการรับประทานคอลลาเจน นอกจากนี้ ยังได้ให้คำแนะนำว่าการใช้อาหารเสริมใดชนิดใดก็ตาม ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นช่วยได้จริงจะต้องใช้ติดต่อนานถึง 2 เดือนจึงจะรู้สึกหรือเห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
ครีมบำรุงผิวจากคอลลาเจนลบเลือนริ้วรอยได้จริงหรือ?
ครีมคอลลาเจนที่กล่าวอ้างสรรพคุณฟื้นฟูความอ่อนเยาว์ของผิวหนังทั้งหลายจะให้ผลลัพธ์ต่อผิวหนังชั้นบนเท่านั้น เช่นเดียวกับมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ชนิดอื่น ๆ ที่มักช่วยลดอัตราการสูญเสียน้ำของผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่มขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นมอยเจอร์ไรเซอร์ที่มีคอลลาเจนหรือไม่มีคอลลาเจนต่างก็ไม่มีคุณสมบัติในการซึมผ่านและถูกดูดซึมไปสู่ผิวหนังชั้นลึก ครีมบำรุงผิวใด ๆ จึงไม่มีประสิทธิภาพลดการสูญเสียคอลลาเจนหรือลบเลือนริ้วรอยได้
การฉีดคอลลาเจนช่วยลดรอยเหี่ยวย่นได้อย่างไร
คอลลาเจนนำมาใช้เป็นสารเติมเต็มหรือที่เรียกว่าการฉีดฟิลเลอร์ (Filler) แทนคอลลาเจนส่วนที่สูญเสียไปของผิว โดยการฉีดคอลลาเจนจะช่วยฟื้นฟูโครงสร้างผิวหนัง ลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าและรอยแผลเป็นบางชนิด ซึ่งผลิตภัณฑ์คอลลาเจนที่นำมาใช้ฉีดอาจนำมาจากเซลล์ของวัวหรือของร่างกายคนเราก็ได้ ทว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้ฟิลเลอร์คอลลาเจนได้อย่างถูกกฎหมาย โดยสารเติมเต็มชนิดเดียวที่รับรองให้สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในตอนนี้คือกรดไฮยาลูโรนิก
วิธีคงความอ่อนวัยของผิวอย่างธรรมชาติ
พฤติกรรมและการรับประทานอาหารบางชนิดเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญในการเร่งให้ผิวหนังสูญเสียคอลลาเจน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการเลือกรับประทานอาหาร คือเคล็ดลับคงความอ่อนวัยของผิวที่ปฏิบัติตามได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นตัวการ ได้แก่ อาหารที่มีน้ำตาลสูง เพื่อลดกระบวนการไกลเคชัน (Glycation) รวมถึงอาหารปิ้งย่างและอาหารสำเร็จรูปที่ส่งผลให้ระดับอนุมูลอิสระในร่างกายเพิ่มสูง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการทำงานและคอลลาเจนในร่างกาย
  • รับประทานอาหารที่อุดมด้วยสารโคเอนไซม์ คิว (Co-Enzyme Q) เช่น ปลาแมคเคอเรล และวิตามินอี เช่น อัลมอนด์ ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งความเสียหายและการสูญเสียคอลลาเจนที่เกิดจากอนุมูลอิสระ รวมทั้งเพิ่มการได้รับวิตามินซีที่จะช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน โดยพบได้จากผลไม้รสเปรี้ยวชนิดต่าง ๆ 
  • ลดการเผชิญสารต้านอนุมูลอิสระด้วยการหลีกเลี่ยงมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมี ยาฆ่าแมลง และหมั่นผ่อนคลายจากความเครียด
  • ไม่สูบบุหรี่และเลี่ยงการสูดดมควันจากผู้อื่น เนื่องจากควันบุหรี่มีสารหลายชนิดที่ส่งผลให้คอลลาเจนและอิลาสติน (Elastin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีบทบาทสำคัญต่อความยืดหยุ่นของผิวหนังถูกทำลาย รวมถึงสารนิโคตินที่จะส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังชั้นนอกตีบแคบลง เป็นสาเหตุให้ผิวสูญเสียน้ำและเกิดร่องรอยลึก
  • ป้องกันผิวจากแสงแดด รังสียูวีในแสงแดดทำให้ปริมาณคอลลาเจนในผิวหนังลดลง โดยทำให้สลายตัวเร็วขึ้น ทำลายเส้นใยคอลลาเจนหรือเพิ่มการสะสมของเส้นใยอิลาสตินที่ไม่ปกติ นอกจากนี้ ยังเพิ่มเอนไซม์ที่ทำลายคอลลาเจนอีกด้วย ทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดด รวมถึงแสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่สามารถปล่อยรังสียูวีออกมา แม้เพียงในระดับต่ำ และควรเลือกใช้ครีมกันแดดหรือเครื่องสำอางที่มี SPF ป้องกันเสมอ

    นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ยังรวมถึงโรคทางระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่อาจเป็นสาเหตุให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากหรือน้อยเกินไป บางโรคอาจลดสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้คอลลาเจนในผิวหนังอ่อนแอลงจนเกิดการสูญเสียคอลลาเจนได้ง่ายกว่าปกติเช่นกัน

    คอลลาเจนกับประโยชน์ทางการแพทย์
    นอกจากประโยชน์ด้านการบำรุงและชะลอการเสื่อมตัวของผิวหนังที่ได้รับความนิยม ยังมีคอลลาเจนอีกชนิดคือคอลลาเจนชนิดที่ 2 (Collagen Type II) ซึ่งพบมากในเนื้อเยื่อกระดูกและข้อต่อของร่างกาย ที่เชื่อว่าอาจมีคุณประโยชน์ในการรักษาอาการเจ็บอันเกิดจากโรคเกี่ยวกับกระดูกหรือข้อต่อ อาการเจ็บหลังการผ่าตัด หรืออาการปวดอื่น ๆ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับสรรพคุณด้านนี้ของคอลลาเจนล้วนแต่ยังมีไม่เพียงพอต่อการยืนยันอย่างแน่ชัด
    โรคข้อเสื่อม มีการใช้คอลลาเจนชนิดที่ 2 ในการรักษาผู้ป่วยที่เผชิญปัญหาเกี่ยวกับการเสื่อมตัวของข้อกระดูกจากการทบทวนงานวิจัยที่ศึกษาประสิทธิภาพของคอลลาเจนชนิดที่ 2 ผ่านกระบวนการย่อยบางส่วนต่อการรักษาโรคข้อเสื่อมหรือโรคความผิดปกติเกี่ยวกับข้อต่อชนิดอื่น ๆ พบว่าคอลลาเจนชนิดที่ 2 สามารถถูกดูดซึมผ่านลำไส้และไปสะสมในกระดูกอ่อนได้
    ทั้งนี้ผู้วิจัยเชื่อว่าเนื่องจากคอลลาเจนชนิดที่ 2 มีกลไกการทำงานที่อาจช่วยให้ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับข้อต่ออย่างโรคข้อเสื่อมมีอาการดีขึ้น โดยช่วยการทำงานของข้อต่อและบรรเทาอาการปวดในทั้งชายและหญิงที่เป็นโรคข้อเสื่อม เข่าเสื่อม และโรคเกี่ยวข้อกระดูกได้อย่างปลอดภัย ซึ่งการศึกษาที่พบนี้ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีสำหรับการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต เพื่อจะสรุปว่าคอลลาเจนให้ผลดีในการรักษาโรคนี้จริงหรือไม่ และควรใช้อย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด
    โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติที่เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มกระดูกข้อต่อที่เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาของสารก่อภูมิต้านทาน (Autoantigen) ภายในข้อต่อ ซึ่งคอลลาเจนชนิดที่ 2 นั้นก็เป็นโปรตีนชนิดหลักในกระดูกอ่อนข้อต่อและสารก่อภูมิต้านทานที่สำคัญ ทำให้มีการศึกษาถึงประโยชน์ในด้านนี้ โดยงานวิจัยเมื่อนานมาแล้วทดลองกับผู้ป่วยที่มีอาการของโรครุนแรง ผลลัพธ์พบว่าผู้ป่วยเกิดอาการบวมและฟกช้ำในข้อต่อลดน้อยลง หลังจากรับประทานคอลลาเจนชนิดที่ 2 เป็นเวลา 3 เดือน ในขณะที่กลุ่มรับประทานยาหลอกที่ไม่เห็นผลลัพธ์ใด ๆ และมีผู้ป่วย 4 คน จากทั้งหมด 60 คนที่มีอาการของโรคทุเลาลงอย่างสมบูรณ์
    ต่อมามีงานวิจัยที่ใช้อาสาสมัครร่วมทดลองในจำนวนที่มากขึ้น รวมทั้งหมด 274 คน ที่ป่วยด้วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยถูกแบ่งกลุ่มให้รับประทานคอลลาเจนชนิดที่ 2 ในปริมาณต่าง ๆ กันได้แก่ 20/100/500 หรือ 2500 ไมโครกรัมต่อวัน นาน 24 สัปดาห์ ผลลัพธ์ชี้ว่าการได้รับคอลลาเจนชนิดที่ 2 ในปริมาณ 20 ไมโครกรัม ส่งผลต่อการรักษาที่ดีและไม่พบอาการข้างเคียงจากการใช้แต่อย่างใด
    อย่างไรก็ตาม อีกงานวิจัยที่ใช้เวลาในการทดลองยาวนานกว่าและให้ผู้ป่วย 60 คนรับประทานคอลลาเจนชนิดที่ 2 ในปริมาณวันละ 0.25 มิลลิกรัม กลับไม่พบผลลัพธ์การรักษาที่ดีขึ้น โดยชี้ว่าคอลลาเจนชนิดที่ 2 มีประโยชน์เพียงเล็กน้อยและมีประสิทธิภาพไม่สม่ำเสมอ ด้วยผลการศึกษาที่ยังมีข้อแย้งและข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ นี้ จึงยังไม่อาจยืนยันสรรพคุณการรักษาโรครูมาตอยด์ของคอลลาเจนชนิดที่ 2 ได้
    อาการปวดอื่น ๆ มีการกล่าวอ้างประโยชน์ของคอลลาเจนชนิดที่ 2 ว่าช่วยบรรเทาอาการเจ็บแม้แต่ในผู้ที่ไม่ได้มีโรคข้อหรือกระดูก เช่น อาการปวดข้อหลังการผ่าตัด อาการปวดหลังได้รับบาดเจ็บ ปวดหลัง และปวดคอ ดังการทดลองหนึ่งที่ให้สมาชิกชมรมกีฬาในมหาวิทยาลัย 147 คน แบ่งกลุ่มรับประทานเครื่องดื่ม 25 มิลลิลิตร ที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนชนิดที่ 2 ปริมาณ 10 กรัม หรือยาหลอกเป็นเวลาต่อเนื่อง 24 สัปดาห์ 
    หลังสิ้นสุดระยะการทดลอง ปรากฏว่านักกีฬาที่รับประทานเครื่องดื่มผสมคอลลาเจนมีอาการปวดข้อลดน้อยลง ซึ่งเท่ากับว่าคอลลาเจนชนิดที่ 2 นี้อาจมีสรรพคุณส่งเสริมสุขภาพข้อต่อและลดโอกาสเสื่อมของข้อต่อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอย่างนักกีฬาที่ต้องใช้งานข้อต่ออย่างหนักเป็นประจำ งานวิจัยนี้มีขนาดเล็กและข้อกำจัดการศึกษาบางประการ ทำให้ไม่สามารถยืนยันผลได้อย่างชัดเจน แต่นับว่าเป็นหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจต่อการศึกษาประโยชน์ของคอลลาเจนด้านการบรรเทาอาการเจ็บต่อไป
    ความปลอดภัยในการใช้คอลลาเจนชนิดที่ 2
    คอลลาเจนชนิดที่ 2 ค่อนข้างมีความปลอดภัยหากใช้รับประทานไม่เกินวันละ 2.5 มิลลิกรัม และไม่นานกว่า 24 สัปดาห์ ส่วนผลข้างเคียงจากการใช้ยังไม่สามารถระบุอย่างชัดเจน แต่เคยมีรายงานว่าผลิตภัณฑ์จากคอลลาเจนชนิดอื่น ๆ เช่น คอลลาเจนจากผิวหนังของลูกวัว (Bovine Collagen) และเจลาติน ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ อย่างไรก็ตาม การใช้คอลลาเจนชนิดที่ 2 มีข้อพึงระวังในกรณีต่อไปนี้

  • การใช้ปริมาณมากอาจมีผลข้างเคียง ได้แก่ คลื่นไส้ ท้องผูก ท้องเสีย แสบร้อนกลางอก ง่วงซึม ปวดศีรษะ และอาการแพ้ที่ผิวหนัง
  • หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรไม่ควรใช้ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือเพียงพอ
  • ผู้ที่มีอาการแพ้ไก่หรือไข่ควรหลีกเลี่ยงการใช้คอลลาเจนชนิดที่ 2 เพราะอาจไปสู่อาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน



เครดิตบทความจาก : www.collaplusofficial.com

Tags : คอลลาเจน,คอลล่า พลัส,Collagen

 

Sitemap 1 2 3